วันเสาร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2553

กฎหมายวิศวกร

กฎหมายวิศวกรและสถาปนิก
Engineering and Architecture Law
บทคัดย่อ

บทความนี้กล่าวถึงพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ.2542 พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ.2543 จรรยาบรรณของวิศวกร และจรรยาบรรณของสถาปนิก รวมทั้งกรณีศึกษาของการกระทำผิดเกี่ยวกับจรรยาบรรณของวิศวกร
1. บทนำ

    ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ค่านิยมในการศึกษาระดับอุดมศึกษา นิยมศึกษาต่อในคณะวิศวกรรมศาสตร์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติและนิยมเข้าศึกษาต่อ ไม่น้อยไปกว่าคณะอื่นๆ ทำให้ในแต่ละปีนั้น นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากทั้ง 2 คณะนี้ มีจำนวนมาก ทำให้วิศวกร และสถาปนิก ในประเทศไทยมีจำนวนมาก เนื่องจากงานของวิศวกร และ สถาปนิก มีหน้าที่ และความรับผิดชอบสูง เนื่องจากเกี่ยวข้องกับชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้เกิดการก่อตั้งสภาวิศวกร สภาสถาปนิก ขึ้นมา เพื่อกำหนดอำนาจหน้าที่และควบคุมบรรดาวิศวกรและสถาปนิกให้ดำเนินงานของตนอย่างถูกต้องตามหลักทางวิศวกรรม ทำให้วิศวกรและสถาปนิกเป็นวิชาชีพควบคุม โดยทั้งวิศวกรและสถาปนิกจะมีสาขาหลักที่ถือว่าอยู่ในการควบคุมโดยผู้ที่จะปฏิบัติหน้าที่นี้ จะต้องมีใบประกอบวิชาชีพควบคุมในสาขาต่างๆ ที่กำหนดไว้
    นอกจากทางสภาวิศวกร และ สภาสถาปนิก จะกำหนดให้ วิศวกร และสถาปนิกที่มีใบประกอบวิชาชีพควบคุมสามารถที่จะปฏิบัติงานตามสายงานที่กำหนดแล้วนั้น ยังมีพระราชบัญญัติ ข้อบังคับ ระเบียบ และจรรยาบรรณ ของทั้งวิศวกร และสถาปนิก เป็นข้อกำหนดให้ วิศวกร และสถาปนิกปฏิบัติตามอีกด้วย

2. กฎหมายวิศวกร
    กฎหมายของวิศวกร แบ่งออกเป็นหลักใหญ่ๆ ดังนี้
2.1 พระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542
      พระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 แบ่งเป็น 8 หมวด ดังนี้
      หมวด 1 สภาวิศวกร กล่าวถึง วัตถุประสงค์ของสภาวิศวกร อำนาจหน้าที่ของสภาวิศวกร ที่มาของรายได้ของสภาวิศวกร
     หมวด 2 สมาชิก กล่าวถึง ประเภทของสมาชิกสภาวิศวกร คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสามัญ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกสามัญ การสิ้นสุดสมาชิกภาพ การประชุมใหญ่สภาวิศวกร
      หมวด 3 คณะกรรมการ กล่าวถึงคณะกรรมการสภาวิศวกร การกำหนดการประชุมคณะกรรมการ การคัดเลือกกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งนายกสภาวิศวกร อุปนายกสภาวิศวกร เลขาธิการ เหรัญญิก คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการ การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ และ อำนาจหน้าที่ของนายกสภาวิศวกร อุปนายกสภาวิศวกร เลขาธิการ และเหรัญญิก
     หมวด 4 การดำเนินการของคณะกรรมการ กล่าวถึง การประชุมคณะกรรมการ การแต่งตั้งหัวหน้าสำนักงานหัวหน้าสภาวิศวกรอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าสำนักงานสภาวิศวกร
       หมวด 5 ข้อบังคับสภาวิศวกร กล่าวถึง การร่างข้อบังคับสภาวิศวกร
      หมวด 6 การควบคุมการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม กล่าวถึง ระดับของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรควบคุม คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาต การแต่งตั้งคณะกรรมการจรรยาบรรณ การพ้นตำแหน่งของกรรมการจรรยาบรรณ อำนาจชี้ขาดของคณะกรรมการจรรยาบรรณ
       หมวด 7 การกำกับดูแล กล่าวถึง อำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรี
       หมวด 8 บทกำหนดโทษ กล่าวถึง การกำหนดโทษจากมาตราต่างๆ

2.2 จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. 2543
      ได้กำหนดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ดังต่อไปนี้
      1. ไม่กระทำการใดๆ อันอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
      2. ต้องปฏิบัติงานที่ได้รับทำอย่างถูกต้องตามหลักปฏิบัติและวิชาการ
          กรณีศึกษา วิศวกร A ได้รับใบอนุญาตระดับภาคีวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธา ได้รับจ้างทำการปรับปรุงและต่อเติมอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น โดยมิได้มีการยื่นขออนุญาตดัดแปลงอาคารกับ เจ้าพนักงานท้องถิ่น ระหว่างก่อสร้างผู้ว่าจ้างได้ขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงงานเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ปรากฏในสัญญาด้วยวาจา มิได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างเช่น เพิ่มงานต่อเติมหลังคา และสร้างห้องน้ำเพิ่มในชั้นบนสุด โดยวิศวกรA ได้ทำการฝังท่อขนาด 4 นิ้ว ตั้งแต่ชั้น 4 ลงมาจนถึงชั้นล่างสุดไว้ก่อนตั้งแต่ขณะเริ่มทำการก่อสร้าง และภายหลังได้ทำการสกัดบริเวณพื้นผิวคานรอบท่อที่ฝังไว้เพื่อต่อเชื่อมท่อ แต่ผู้ว่าจ้างเข้าใจว่าวิศวกร Aได้ทำการเจาะคานเพื่อจะฝังท่อ คณะกรรมการจรรยาบรรณพิจารณาแล้ว เห็นว่าวิศวกร A ทำการออกแบบคำนวณตามขั้นตอน ประกอบกับทำการฝังท่อระบายน้ำขนาด 4 นิ้วไว้ก่อนขณะก่อสร้าง ถือว่าเป็นการปฏิบัติงานที่ถูกต้องตามหลักปฏิบัติและวิชาการแล้วแต่การที่วิศวกร A เข้ารับทำงานโดยทราบก่อนแล้วว่าอาคารดังกล่าวไม่สามารถยื่นขออนุญาตแก้ไขดัดแปลงให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522ได้ แต่ก็ยังรับทำงานนี้ ถือว่าเป็นการสนับสนุนให้มีการทำผิดกฎหมาย จึงเห็นสมควรให้ลงโทษพักใช้ใบอนุญาตของวิศวกร A มีกำหนดระยะเวลา 6 เดือน
      3. ต้องประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
        กรณีศึกษา วิศวกร B ได้รับใบอนุญาตระดับภาคีวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธา ได้ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาความถูกต้องของเอกสารใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแทนวิศวกรอื่นซึ่งทำงานร่วมกันโดยพลการ และได้นำเอกสารดังกล่าวไปยื่นประกอบการประมูลงานของหน่วยงานราชการ การกระทำของวิศวกร B เป็นการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมโดยไม่สุจริต แต่เนื่องจากวิศวกร B ให้การรับสารภาพและให้การอันเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาไต่สวน จรรยาบรรณ คณะกรรมการจรรยาบรรณจึงลดหย่อนโทษให้ วิศวกร B ถูกลงโทษพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม มีกำหนดเวลา 2 ปี
      4. ไม่ใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบธรรม หรือใช้อิทธิพล หรือให้ผลประโยชน์แก่บุคคลใดเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับหรือไม่ได้รับงาน
      5. ไม่เรียก รับ หรือยอมรับทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อย่างใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ จากผู้รับเหมา หรือบุคคลใดซึ่งเกี่ยวข้องในงานที่ทำอยู่กับผู้ว่าจ้าง
      6. ไม่โฆษณา หรือยอมให้ผู้อื่นโฆษณา ซึ่งการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมเกินความเป็นจริง
          กรณีศึกษา วิศวกร C ได้รับใบอนุญาตระดับภาคีวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธา ได้ทำ ใบปลิวโฆษณา โดยระบุว่า รับเหมา-ต่อเติมทุกชนิด ด้วยทีมงานมืออาชีพ เช่น แก้ปัญหารอยแตกร้าวของโครงสร้าง การทรุดตัวของโครงสร้าง งานปลูกสร้าง อพาร์ทเม้นท์ หอพัก ควบคุมการก่อสร้างด้วย ทีมงานวิศวกร ฯลฯ ซึ่งเป็นการโฆษณาให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนมีความรู้ความสามารถที่จะประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม จนเป็นเหตุให้บุคคลภายนอกหลงเชื่อตามข้อความที่ปรากฏในใบโฆษณาและได้ติดต่อตกลงทำสัญญากับวิศวกร C ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว วิศวกร C ไม่สามารถทำงานวิศวกรรม ควบคุมบางประเภทตามข้อความที่ได้โฆษณาไว้ เนื่องจากเกินความรู้ความสามารถ และไม่มีทีมงานประจำ บางครั้งต้องไปจ้างวิศวกรผู้อื่นเข้ามาดำเนินการแทน กรณีนี้ถือว่าวิศวกร C ทำการโฆษณา เกินความเป็นจริงแต่เมื่อดูจากเจตนาและประสบการณ์แล้วเห็นว่า วิศวกร C ได้กระทำไปโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เนื่องจากอายุยังน้อยจึงเห็นสมควรให้ลงโทษสถานเบา โดยการภาคทัณฑ์ วิศวกร C ไว้ มีกำหนดระยะเวลา 1 ปี
      7. ไม่ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมเกินความสามารถที่ตนเองจะกระทำได้
          กรณีศึกษา วิศวกร D และวิศวกร E ได้รับใบอนุญาตระดับภาคีวิศวกร สาขาวิศวกรโยธา ได้ทำสัญญารับเหมาซ่อมแซมปรับปรุงอาคารพาณิชย์สูง 4 ชั้น โดยทราบว่าเจ้าของอาคารมิได้ยื่นขอรับใบอนุญาตต่อเติมหรือดัดแปลงอาคารต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ถูกต้องตามกฎหมาย คณะกรรมการจรรยาบรรณพิจารณาแล้วเห็นว่าวิศวกรทั้งสองไม่สามารถออกแบบอาคารพาณิชย์สูงเกิน 3 ชั้นได้ จึงเป็นการประกอบวิชาชีพเกินความรู้ความสามารถที่กฎหมายกำหนด ประกอบกับมิได้แจ้งให้เจ้าของอาคารดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อน จึงให้ลงโทษพักใช้ใบอนุญาตของวิศวกรทั้งสอง มีกำหนดระยะเวลา 1 ปี
      8. ไม่ละทิ้งงานที่ได้รับทำโดยไม่มีเหตุอันสมควร
          กรณีศึกษา วิศวกร F ได้รับใบอนุญาตระดับสามัญวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธา ได้รับออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างอาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ต่อมาเจ้าของอาคารได้ดำเนินการตอกเสาเข็มไปโดยมิได้แจ้งให้วิศวกร F ในฐานะผู้ควบคุมงานทราบ หลังจากตอกเสาเข็มไปประมาณ 19 ต้น จากจำนวนเสาเข็มทั้งหมด 28 ต้น เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารและแจ้งให้วิศวกร F ทราบ ซึ่งหลังจากทราบเรื่อง วิศวกร F ได้ไปยังสถานที่ก่อสร้างและแจ้งให้เจ้าของอาคารระงับการก่อสร้างไว้ก่อน แต่ปรากฏว่าเจ้าของอาคารยังคงเพิกเฉยต่อคำสั่งดังกล่าว วิศวกร F จึงได้มีหนังสือถึงเจ้าพนักงานท้องถิ่นขอถอนตัวออกจากการเป็นวิศวกรควบคุมงาน คณะกรรมการจรรยาบรรณพิจารณาแล้วเห็นว่าวิศวกร F มีเหตุผลอันสมควรในการบอกเลิกจากการเป็นผู้ควบคุมงาน เมื่อพบว่าเจ้าของอาคารจงใจฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นและคำสั่งของตนในฐานะเป็นผู้ควบคุมงานตามกฎหมาย เพราะหากวิศวกร F ยังรับเป็นผู้ควบคุมงานต่อไปก็จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อวิศวกร Fเมื่อการบอกเลิกจากการเป็นผู้ควบคุมงานถูกต้องตามกฎหมายแล้ว จึงไม่อาจถือว่าวิศวกร F จงใจ ละทิ้งงานควบคุมการก่อสร้างแต่อย่างใด ให้ยกข้อกล่าวหาวิศวกร F
      9. ไม่ลงลายมือชื่อเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ในงานที่ตนเองไม่ได้รับทำ ตรวจสอบ หรือควบคุมด้วยตนเอง
      10. ไม่เปิดเผยความลับของงานที่ตนได้รับทำ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าจ้าง
      11. ไม่แย่งงานจากผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมอื่น
      12. ไม่รับทำงาน หรือตรวจสอบงานชิ้นเดียวกันกับที่ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมอื่นทำอยู่ เว้นแต่เป็นการทำงานหรือตรวจสอบตามหน้าที่ หรือแจ้งให้ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมอื่น ทราบล่วงหน้าแล้ว
            กรณีศึกษา วิศวกร G ได้รับใบอนุญาตระดับสามัญวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธา ได้รับงานออกแบบโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง โดยก่อนรับงานได้เดินทางไปดูสถานที่ก่อสร้างและพบว่าได้มีการตอกเสาเข็มไปบางส่วนแล้วประมาณร้อยละ 40 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเข็มกลุ่ม จึงคาดว่าน่าจะมีผู้ออกแบบก่อนแล้วและได้แจ้งให้ผู้ว่าจ้างดำเนินการแจ้งให้ผู้ออกแบบเดิมทราบก่อน ต่อมาได้รับใบสั่งงานจากผู้ว่าจ้าง จึงเข้าใจว่าผู้ว่าจ้างได้แจ้งให้ผู้ออกแบบเดิมทราบแล้ว วิศวกร G จึงได้ทำการออกแบบตามที่ได้รับการว่าจ้าง โดยมิได้ติดตามทวงถามว่าผู้ว่าจ้างได้แจ้งให้ผู้ออกแบบเดิมทราบก่อนแล้วหรือไม่จึงเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เพราะวิศวกร G ยังคงมีหน้าที่ต้องติดต่อประสานงานไปยังวิศวกรผู้ออกแบบเดิมก่อนเพื่อให้รับทราบล่วงหน้าถึงการเข้ามารับงานของตน คณะกรรมการ จรรยาบรรณจึงเห็นควรให้ลงโทษตักเตือนวิศวกร G ให้ใช้ความระมัดระวังในการประกอบวิชาชีพให้ มากกว่าเดิม
      13. ไม่รับดำเนินงานชิ้นเดียวกันให้แก่ผู้ว่าจ้างรายอื่น เพื่อการแข่งขันราคา เว้นแต่ได้แจ้งให้ผู้ว่าจ้างรายแรกทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร หรือได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ว่าจ้างรายแรก และได้แจ้งให้ผู้ว่าจ้างรายอื่นทราบล่วงหน้าแล้ว
     14. ไม่ใช้หรือคัดลอกแบบ รูป แผนผัง หรือเอกสาร ที่เกี่ยวกับงานของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมอื่น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมอื่น
    15. ไม่กระทำการใดๆ โดยจงใจให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่ชื่อเสียง หรืองานของ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมอื่น

3. กฎหมายสถาปนิก
    กฎหมายของสถาปนิก แบ่งออกเป็นหลักใหญ่ๆ ดังนี้
3.1 พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543
      พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 แบ่งเป็น 8 หมวด ดังนี้
      หมวด 1 สภาสถาปนิก กล่าวถึง วัตถุประสงค์ของสภาสถาปนิก อำนาจหน้าที่ของสภาสถาปนิก ที่มาของรายได้ของสภาสถาปนิก
    หมวด 2 สมาชิก กล่าวถึง ประเภทของสมาชิกสภาสถาปนิก คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสามัญ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกสามัญ การสิ้นสุดสมาชิกภาพ การประชุมใหญ่สภาสถาปนิก
     หมวด 3 กรรมการ กล่าวถึง คณะกรรมการสภาสถาปนิก คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ และอำนาจหน้าที่ของนายกสภาสถาปนิก อุปนายกสภาสถาปนิก เลขาธิการ และเหรัญญิก
     หมวด 4 การดำเนินการของคณะกรรมการ กล่าวถึง การประชุมคณะกรรมการ การแต่งตั้งหัวหน้าสำนักงานหัวหน้าสภาสถาปนิก อำนาจหน้าที่ของหัวหน้าสำนักงานสภาสถาปนิก
     หมวด 5 ข้อบังคับสภาสถาปนิก กล่าวถึง การร่างข้อบังคับสภาสถาปนิก
  หมวด 6 การควบคุมการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม กล่าวถึง ระดับของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม การแต่งตั้งคณะกรรมการจรรยาบรรณ การพ้นตำแหน่งของกรรมการจรรยาบรรณ อำนาจชี้ขาดของคณะกรรมการจรรยาบรรณ
     หมวด 7 การกำกับดูแล กล่าวถึง อำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรี
     หมวด 8 บทกำหนดโทษ กล่าวถึง การกำหนดโทษจากมาตราต่างๆ

3.2 จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปนิก จากกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (2511) ได้ประกาศไว้ ดังนี้:
     1. ต้องทำงานโดยซื่อสัตย์ ไม่ทิ้งงานหากไม่มีเหตุอันควร และต้องตั้งใจทำงานของตนให้เป็นผลดีต่อ “สังคม”
      2. ห้ามทำอะไรที่เสื่อมแก่ “เกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ”
      3. ห้ามโฆษณาใด ๆ “ซึ่งการประกอบวิชาชีพสถาปนิก”
      4. ห้ามใช้แบบที่ออกแบบให้คนอื่นแล้ว ยกเว้นแต่เจ้าของแบบเดิมอนุญาต
      5. ไม่ตรวจเช็คงานสถาปนิกอื่น เว้นแต่ทำตามหน้าที่และสถาปนิกอื่นนั้นทราบก่อน
      6. ไม่แย่งงานสถาปนิกอื่น (ไม่ทำงานที่สถาปนิกอื่นกำลังทำอยู่)
      7. ไม่หางานโดยการลดหรือประกวดค่าแบบ
      8. ไม่ใช้ตำแหน่งหรืออิทธิพล หรือให้คอมมิชชั่น เพื่อได้งานออกแบบ
      9. ปกปิดความลับของแบบลูกค้าตน และไม่ลอกแบบผู้อื่น
    10. ไม่ทำลายชื่อเสียงสถาปนิกอื่น
    11. ห้ามกินค่าคอมมิชชั่น ซองขาว หรือค่าสเปค
    12. ไม่รับเหมาก่อสร้าง

4. สรุป
  ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติวิศวกร หรือ พระราชบัญญัติสถาปนิก ตลอดจนข้อบังคับในเรื่องของจรรยาบรรณของวิศวกรและสถาปนิกนั้น ได้กล่าวถึง ข้อบังคับ คุณสมบัติ และอำนาจหน้าที่ของทั้งวิศวกรและสถาปนิก เพื่อให้ทั้งวิศวกรและสถาปนิกได้ปฏิบัติตาม เพื่อไม่ให้ประพฤติผิดต่อวิชาชีพ ซึ่งจะนำมาถึงความเสื่อมเสียแห่งวิชาชีพ การประพฤติผิดต่อวิชาชีพนอกจากจะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงแล้วนั้น ยังอาจส่งผลให้มีผลกระทบในเรื่องของความไว้วางใจในการทำงาน ของผู้ที่จะมาให้วิศวกรหรือสถาปนิกดำเนินงาน และหากความผิดนั้นเชื่อมโยงถึงความปลอดภัยในการทำงานที่อาจจะดำเนินงานโดยผิดจากหลักการหรือทฤษฎีที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอันตรายได้ ตัวอย่างเช่น สถานบันเทิงที่ใช้งานผิดประเภทของอาคาร หรือการก่อสร้างผิดหลักวิศวกรรม ทำให้มีการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เป็นต้น ดังนั้น ทั้งวิศวกร และสถาปนิกมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และถูกต้องตามหลักของวิชาชีพ

เอกสารอ้างอิง

[1] พระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ.2542
[2] พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ.2543
[3] คำวินิจฉัยคณะกรรมการจรรยาบรรณที่ 9/2548 ลงวันที่ 25 เมษายน 2548
[4] คำวินิจฉัยคณะกรรมการจรรยาบรรณที่ 12/2547 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2547
[5] คำวินิจฉัยคณะกรรมการจรรยาบรรณที่ 11/2546 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2546
[6] คำวินิจฉัยคณะกรรมการจรรยาบรรณที่ 13/2547 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2547
[7] คำวินิจฉัยคณะกรรมการจรรยาบรรณที่ 10/2547 ลงวันที่ 13 กันยายน 2547
[8] คำวินิจฉัยคณะกรรมการจรรยาบรรณที่ 7/2547 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2547



วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

กฎหมายก่อสร้าง

                  ในชีวิตประจำวันของเรานั้น คนส่วนใหญ่อาจจะมองว่า "กฎหมายก่อสร้าง" เป็นสิ่งที่ไกลตัวเราหากไม่ได้อยู่ในสายงานที่เกี่ยวข้อง หรือต้องการที่จะก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในความเป็นจริงไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างหรือซื้อขายสิ่งก่อสร้าง การที่เรามีความรู้ในเรื่องของกฎหมายไว้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมาก เพื่อป้องกันการกระทำผิดโดยที่เราไม่ได้เจตนาที่จะหลบเลี่ยงหรือกระทำผิด และป้องกันการถูกหลอกได้อีกด้วย
                   กฎหมายก่อสร้างในประเทศเรามีอยู่ด้วยกันหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) และแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2543 พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ2535 พระราชบัญญัติการประกอบวิชาชีพงานก่อสร้าง พ.ศ.2522 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ.2544 กฎกระทรวงฉบับต่างๆ และ เทศบัญญัติต่าง
                    นอกเหนือจากที่ได้กล่าวมานั้น ยังมีกฎหมายก่อสร้างและกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับ ซึ่งผู้เขียนจะขอนำเสนอในครั้งต่อๆไป ขอบคุณค่ะ